… เมื่อบริษัทสัญชาติจีน ผงาดมาตั้งโรงงานใจกลางรัฐ Ohio ของสหรัฐ…
… คนจีนกดค่าแรง หรือคนอเมริกันทำงานห่วย ?…
… เมื่อ Result-Orientation ปะทะกับ People-Focus…
สารคดีแห่งปีจาก Netflix ว่าด้วยบริษัทผลิตกระจกรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก สัญชาติจีนชื่อ Fuyao ที่เข้ามาตั้งโรงงานเมื่อปี 2016 ในรัฐ Ohio โดยซื้อพื้นที่จากบริษัท GM
เรื่องราวเปิดตัวด้วยภาพอนาคตอันสดใสของ Ohio ที่ผู้คนได้กลับมามีงานทำ แม้จะมีค่าแรงลดลงจากที่เคยได้ 29 ดอลลาร์/ชั่วโมง จนมาเหลือ 13 ดอลลาร์/ชั่วโมง
ตามมาด้วยคำพูดของผู้จัดการโรงงานที่เล่าให้เจ้าของ Fuyao ที่ชื่อ Cao Dewang ว่าคนอเมริกันนั้น “They are too slow.”, “They have fat fingers.”, “We keep training them over and over.” ในขณะที่กลุ่มคนงานชาวอเมริกันก็เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสหภาพ ตามสิทธิแรงงานและความเป็นมนุษย์
คุณ Cao เองก็ได้พยายามหาทางออกที่ประนีประนอมมากที่สุด โดยตอนแรกให้คนจากโรงงานในจีน (ซึ่งเป็นคนจีนทั้งหมด) เป็นหัวหน้าคอยสอนงานคนงานชาวอเมริกัน ซึ่งผลลัพธ์คือการทำกระจกแตกต่อหน้า Auditor จากบริษัท Honda
จากนั้นคุณ Cao ก็บินมาดูที่หน้างานด้วยตัวเอง ทั้งยังเลือก Director ของโรงงานเป็นชาวอเมริกัน มีการตกแต่งพื้นที่โรงงานให้เป็นอเมริกันมากกว่าความเป็นจีน และอบรมคนจีนให้เข้าใจพฤติกรรมและวัฒนธรรมการทำงานของคนอเมริกัน ในขณะที่เรียกร้องให้กลุ่มคนงานชาวอเมริกันยอมรับว่าจะไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเกิดขึ้น
สุดท้ายประสิทธิภาพการทำงานก็ยังไม่ดีขึ้น “I can’t manage them.” คือคำแปลของประโยคภาษาจีนที่ออกมาจากปากเศรษฐีที่ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อหวังจะเห็น China Dream in American land อย่างคุณ Cao
เมื่อจัดการเองไม่ได้คุณ Cao จึง “ยืมมือ” กลุ่ม Talent ชาวอเมริกันในโรงงานด้วยการส่งไปเรียนรู้วิธีการทำงานของคนบริษัทแม่ในโรงงาน Fuyao ที่จีน
ผลลัพธ์ที่ได้คือการไปพบ “วัฒนธรรม” การทำงานของจีนที่ต่างกับอเมริกันอย่างสุดขั้ว แม้ว่าเราจะเคยได้ยินคำของ Jack Ma ที่ว่า ‘Would rather die on the beach than in my office’ แต่ ณ โรงงานนี้ผมเชื่อว่าคนที่นี่พร้อมจะเกิดและตายในโรงงาน ซึ่งจะด้วยการไม่เห็นหนทางหรือความภักดีที่มีต่อองค์กรก็ตามแต่ ผลลัพธ์ที่ได้คือประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือกว่า การทำงานที่หนักหน่วงกว่า คนจีนทำงานวันล่ะ 12 ชม. หกวัน/สัปดาห์ ซึ่งแม้แต่คนจีนที่ไปทำงานต่างประเทศก็ไม่ได้รับเงินพิเศษใดๆทั้งสิ้น ในขณะที่ค่าแรงของคนจีนนั้นถูกกว่าคนอเมริกันที่ทำงานวันล่ะ 8 ชม. 5 วัน/สัปดาห์
ทุกเช้าแรงงานชาวจีนจะมารวมตัวกันเพื่อร้องเพลงที่เน้นย้ำเรื่องความจริงจังในการทำงาน จากนั้นจะแยกไปประจำจุดต่างๆตามฝ่าย เพื่อมาประชุมแก้ไขปัญหาที่เจอและอัพเดทความคืบหน้าของการทำงาน โดยคนทุกคนจะมีเบอร์บอกจุดว่าต้องยืนตรงไหนของโรงงาน มีการสั่งซ้ายหันขวาหัน และทำความเคารพผู้บังคับบัญชา ในขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยแทบไม่ต้องมี คนงานจีนสามารถแยกขยะที่เป็นกระจกได้ด้วยถุงมือธรรมดาที่ไม่สามารถป้องกันการบาดได้!
คนจีนไม่เรียกร้องสหภาพ เพราะมองว่าโรงงานคือครอบครัวที่ทำให้พวกเค้าได้มีอยู่มีกิน มีการจัดงานเลี้ยงที่โรงงานโดยนำผลิตภัณฑ์ของ Fuyao เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง มีการร้องเพลงที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงาน หรือการนำลูกๆของพนักงานมาแสดง ที่พีคสุดคือการจัดงานแต่งงานในงานเลี้ยงประจำปีของบริษัทพร้อมๆกันนับสิบคู่!
เรื่องตลกคือในขณะที่คนจีนกำลังขับร้องเพลงที่พูดถึงความเป็นชาติ ความทุ่มเทเพื่อการทำงาน และครอบครัว การแสดงของคนอเมริกันคือการออกไปร้องเพลง YMCA ที่แสดงถึงความสนุกในการใช้ชีวิต
กลับมาที่โรงงานที่อเมริกา กลุ่มคนอเมริกันที่ไปดูงานในจีน พยายามนำวิธีการทำงานมาใช้บ้าง แต่สุดท้ายกลุ่มเพื่อนอเมริกันก็ไม่มีใครทำตามกันสักคน เพราะพวกเค้ารู้สึกว่าตนเองถูกริดรอนสิทธิด้วยการทำงานที่ไม่มีมาตราการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ เช่น ให้ทำงานในพื้นที่อุณภูมิสูงเกือบ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานๆ, เริ่มมีพนักงานที่ได้รับอุบัติเหตุครั้งใหญ่ ทั้งๆที่เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทำงานกับ GM, การทำงานมี Micro-management มากขึ้น และสิ่งที่พวกเค้าเรียกร้องมาตลอดอย่างสหภาพไม่เคยได้รับการตอบสนอง
เรื่องราวเลยเถิดขนาดที่การจัดตั้งสหภาพเป็นประเด็นการเมืองภายในองค์กร กลุ่มคนงานเองมีเรียกร้องให้จัดตั้งประชามติเพื่อโหวตว่าควรมีสหภาพหรือไม่ จนสุดท้ายก็ต้องมีการจัดประชามติจริงๆจากการแทรกแซงของสหภาพยานยนต์ (United Auto Works) ซึ่งกลุ่มคนงานบางส่วนของ Fuyao ก็ได้จัด Campagin ด้วยการแจ้งใบปลิวและถือป้าย Vote Yes นอกโรงงาน
ฝากฝั่งบริษัทเองได้มีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อการยับยั้งสหภาพแรงงาน (The Union Avoidance Consultants) หลายล้านดอลลาร์ เพื่อจัดการพนักงานที่แข็งข้อ รวมถึงมีการกลั่นแกล้งพนักงานหัวโจกด้วยการให้ทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้มีผลงานที่แย่และเป็นเหตุผลที่จะใช้ในการไล่ออก โดยในกลุ่มผู้บริหารก็ทำการโละผู้บริหารคนอเมริกันทั้งหมด และแต่งตั้งผู้บริหารคนจีนแทน มีการเอาใจด้วยการเพิ่มค่าแรง 2 ดอลลาร์/ชั่วโมง และสนับสนุนให้ Vote No
ผลโหวตออกมาด้วยคะแนนเสียง Vote No 60% ซึ่งจากปัญหาทั้งหมดนำไปสู่ตอนท้ายของสารคดีที่คุณ Cao ได้รับแนะนำจาก Vendor ในการนำระบบหุ่นยนต์เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ทั้งหมด
สุดท้ายใบปิดของเรื่องคือการพลิกฝื้นจากขาดทุนเป็นกำไรของโรงงานแห่งนี้ในขณะที่ยังคงค่าแรงที่ 14 ดอลลาร์/ชั่วโมงจนถึงปัจจุบัน
………….
ความดีงามของสารคดีนี้คือการได้เห็นมุมมองที่ต่างกันของผู้บริหารชาวจีน และพนักงาน (ส่วนใหญ่) ชาวอเมริกัน โดยจุดแตกต่างหลักคือ วัฒธรรมการทำงาน จุดที่สารคดีโดดเด่นอย่างมากนี้คือการเปิดเผยข้อมูลที่เราเห็นแม้กระทั่งการประชุมของผู้บริหารคนจีนที่ด่าว่าพนักงาน ในขณะที่ความไม่พอใจของพนักงานก็ได้รับการถ่ายทอดเช่นกัน ทั้งยังเห็นแนวโน้มของค่าแรงเฉลี่ยและจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานที่ลดลง สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ปรึกษาชื่อแปลกอย่าง Union Avoidance Consultants
ส่วนที่ผมชอบที่สุดคือการเห็นมุมมองของเจ้าของบริษัทอย่างคุณ Cao ที่บอกเล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาว่า “ประเทศจีนสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้นยากจนและด้อยพัฒนา เมื่อก่อนผมมีความสุขกว่านี้ ตอนนี้ผมอยู่ในยุคใหม่ของความเจริญรุ่งเรือง แต่ผมรู้สึกสูญเสีย ผมคิดถึงเสียงกบ แมลง และดอกไม้ในสมัยเด็ก ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ผมตั้งโรงงานขึ้นมากมาย ผมได้พรากความสุขไปและทำลายสภาพแวดล้อมไหม ผมไม่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้ให้หรืออาชญากร
“ผมมีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน คุณไม่คิดแบบนั้นหรือ?”
………….
มองในภาพรวม คนจีนดูเป็นผู้ร้ายที่กดขี่คนทำงาน แต่คำถามที่จะเกิดขึ้นคือ เพราะก่อนหน้านี้คนอเมริกันทำงานแบบนี้หรือเปล่า โรงงาน GM จึงต้องปิดตัว
ดูสารคดีจบแล้วไม่แปลกใจว่าทำไมปัจจุบันจีนถึงยิ่งใหญ่ขนาดนี้
ส่วนที่น่าคิดคือ EEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นจะเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันแบบนี้หรือไม่ และคนไทยเรานั้นมีกระบวนการในการรับมือระบบ Automation ที่จะเข้ามา Disrupt วิถีการทำงานเราอย่างไร